วัสดุที่ใช้อุดฟัน มีกี่แบบ??

การอุดฟัน คืออะไร

การอุดฟัน (Dental Filling) คือ การทำทันตกรรมเพื่อรักษาฟันที่ถูกทำลายจากปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันผุ ฟันแตก ฟันสึก ฟันกร่อน ฯลฯ ด้วยการใช้วัสดุสังเคราะห์ชนิดต่างๆ เติมเข้าไปในส่วนของฟันที่เสียหาย เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเกิดอาการผุ หรือเนื้อฟันถูกทำลายเพิ่มขึ้นนั่นเอง

วัสดุอุดฟันมีกี่แบบ

สำหรับวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้ในการอุดฟันนั้นจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ วัสดุสีโลหะ และ วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน ซึ่งจะแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดี-ข้อเสียอะไรที่ต้องพิจารณาก่อนจะเลือกว่า ควรใช้วัสดุแบบไหนดี ลองไปดูคำตอบพร้อมๆ กันเลย

อุดฟันวัสดุสีโลหะ

การอุดฟันด้วยวัสดุสีโลหะ เป็นการอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันที่เรียกว่าอมัลกัม (Amalgam) ทำมาจากการผสมกันของปรอท เงิน ดีบุก หรือโลหะ เวลาอุดฟันเสร็จแล้วจะเห็นตัววัสดุเป็นสีเงินหรือสีเทา ส่วนใหญ่จะใช้ในการอุดฟันกรามเเละฟันกรามน้อย เพราะมีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงบดเคี้ยว และสีอาจจะไม่สวยเนียนไปกับสีฟัน

ข้อดีของวัสดุอุดฟันสีโลหะ

  • แข็งแรงและทนทาน
  • ราคาไม่แพง
  • ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก
  • ทนทานต่อแรงบดเคี้ยวได้ดี
  • ยึดติดกับฟันได้ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องทำล็อกต่างๆ ให้วุ่นวาย
  • ประกันของทันตกรรม มักจะครอบคลุมค่ารักษาด้วยการอุดฟันแบบสีโลหะ

ข้อเสียของวัสดุอุดฟันสีโลหะ

  • มีสีที่ไม่เหมือนฟัน มองเห็นชัดว่าทำการอุดฟัน
  • ไม่เหมาะกับการอุดฟันหน้าหรือซี่ฟันที่มองเห็นได้ชัด
  • หลังอุดฟันต้องรอ 24 ชั่วโมงถึงจะใช้ฟันที่ทำการอุดในการบดเคี้ยวอาหารได้
  • มีส่วนผสมของปรอทและโลหะอื่นๆ ที่อาจจะเป็นพิษต่อร่างกายได้
อุดฟันวัสดุสีเหมือนฟัน

การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน (Resin Composite Filling) คือ การอุดฟันวัสดุอุดฟันสีเหมือนธรรมชาติเป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบันมากที่สุด ถูกพัฒนามาเพื่อให้ใช้อุดได้ทั้งฟันหน้าและฟันกราม หรือซี่ฟันที่สามารถมองเห็นได้ แต่วัสดุสีเหมือนฟันจะแข็งแรงไม่เท่ากับการอุดฟันด้วยวัสดุโลหะ และมีขั้นตอนในการทำที่ยุ่งยากกว่า

ข้อดีของวัสดุอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน
  • สีเหมือนกับฟันธรรมชาติ จึงเหมาะสำหรับใช้อุดฟันหน้าหรือฟันที่สามารถเห็นได้ชัด
  • ไม่มีสารปรอท
  • ไม่ต้องรอครบ 24 ชั่วโมงก็สามารถใช้บดเคี้ยวได้เลย
ข้อเสียของวัสดุอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน
  • ราคาแพงกว่าการอุดฟันด้วยวัสดุสีโลหะ
  • มีความทนทานน้อยกว่าการอุดฟันด้วยวัสดุสีโลหะ และรับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่า
  • ใช้เวลาในการอุดฟันนานกว่า
  • สามารถติดสีจากอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภค เช่น ชา, กาแฟ หรือจากการสูบบุหรี่
แชร์บทความ
ทพญ.นฤมล โสภาลดาวัลย์
ทพญ.นฤมล โสภาลดาวัลย์

หมอหญิงจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับประกาศนียบัตรฝึกอบรมระดับปริญญาโทด้านทันตกรรมเพื่อความงามจาก British Academy of Restorative Dentistry โดยเน้นด้านทันตกรรมเพื่อความงาม เช่น ครอบฟัน วีเนียร์ และรากฟันเทียม ในเวลาว่าง หมอหญิงเป็นนักอ่านตัวยงและชอบไปร้านกาแฟ

Articles: 20